ไหล่ติด (Frozen Shoulder) หรือที่เรียกในทางการแพทย์ว่า Adhesive Capsulitis เป็นภาวะที่ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลงอย่างมาก และมักมาพร้อมกับความเจ็บปวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยอย่างมาก เช่น การยกแขนแต่งตัว หยิบของ หรือแม้กระทั่งการนอนหลับ

ระยะของอาการไหล่ติด
แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
- ระยะอักเสบ (Freezing Stage)
- ระยะนี้มักเป็นช่วงที่อาการเริ่มต้น โดยจะมีการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อไหล่
- รู้สึกปวดบริเวณข้อไหล่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- การเคลื่อนไหวของข้อไหล่เริ่มมีข้อจำกัดเนื่องจากอาการปวด
- ระยะเวลาประมาณ 2-9 เดือน
- ระยะข้อไหล่แข็ง (Frozen Stage)
- ในระยะนี้ พังผืดเริ่มก่อตัวในข้อไหล่ ทำให้การเคลื่อนไหวลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- อาการปวดลดลง แต่การเคลื่อนไหวของข้อไหล่ถูกจำกัดอย่างมาก
- ไม่สามารถยกแขนหรือหมุนข้อไหล่ได้ในบางทิศทาง เช่น การยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ หรือการเอื้อมมือไปด้านหลัง
- ระยะเวลาประมาณ 4-12 เดือน
- ระยะฟื้นตัว (Thawing Stage)
- ระยะนี้ข้อไหล่เริ่มกลับมามีการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น เนื่องจากพังผืดค่อย ๆ คลายตัว
- อาการปวดลดลงหรือหายไป
- ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานไหล่ในกิจกรรมประจำวันได้ดีขึ้น
- ระยะเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 2 ปี
สาเหตุของอาการไหล่ติด
ข้อต่อไหล่ถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน อาการไหล่ติดเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อนี้หนาและตึงรอบข้อต่อไหล่ ทำให้การเคลื่อนไหวถูกจำกัด
สาเหตุยังไม่ชัดเจนว่าทำไมบางคนถึงเป็นโรคนี้ แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้หลังจากที่ต้องหยุดใช้ไหล่เป็นเวลานาน เช่น หลังการผ่าตัดหรือกระดูกแขนหัก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการไหล่ติด
- อายุและเพศสภาพ
- มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- การไม่ขยับข้อไหล่เป็นเวลานาน
- การถูกจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ เนื่องจากการบาดเจ็บที่ข้อไหล่ การพักใช้งานไหล่หลังการผ่าตัด
- โรคประจำตัว
- เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ และโรคหัวใจ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่มีโรคเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงขึ้น
วิธีการรักษาอาการไหล่ติดด้วยกายภาพบำบัด
- การดัดข้อไหล่ (Mobilization) เพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว
- การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เพื่อลดปวด และคลายกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไหล่
- เช่น Ultrasound Therapy, High Power Laser Therapy, Electrical Stimulation เป็นต้น
- การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและการเคลื่อนไหว
- ท่า Pendulum Exercise: แกว่งแขนเบาๆ เพื่อช่วยคลายข้อต่อ
- ท่า ไต่กำแพง: ใช้นิ้วมือค่อย ๆ ไต่แพงขึ้นด้านหน้า และด้านข้าง เพื่อเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว
- ท่า Cross-Body Stretch: ดึงแขนข้างหนึ่งข้ามลำตัวเพื่อยืดกล้ามเนื้อไหล่
- ท่า Shoulder external rotation: แขนตั้งฉากข้างลำตัว ดึงยางหมุนแขนออกด้านนอก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะบัก
- การประคบร้อน-เย็น
- การประคบร้อนช่วยลดความแข็งตัวของกล้ามเนื้อและพังผืด ส่วนการประคบเย็นช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด
ข้อแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดไหล่ติด
- หมั่นยืดเหยียดและออกกำลังกายบริเวณข้อไหล่เป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการใช้งานไหล่ในลักษณะที่ผิดวิธีหรือนานเกินไป
- หากมีอาการบาดเจ็บ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดทันที
บทสรุป
ไหล่ติด (Frozen Shoulder) เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบและการก่อตัวของพังผืดในข้อไหล่ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของข้อไหล่จำกัดและมักมาพร้อมกับอาการปวด
การฟื้นฟูด้วย กายภาพบำบัด เป็นวิธีการรักษาที่สำคัญ โดยเน้นการลดปวด เพิ่มความยืดหยุ่น และฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ผ่านการออกกำลังกายเฉพาะทาง การประคบร้อนหรือเย็น และการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดช่วย เช่น คลื่นอัลตราซาวด์หรือไฟฟ้ากระตุ้น
การดูแลตัวเองและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ระยะแรกสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการ และฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อการรักษาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การป้องกันโดยการเคลื่อนไหวไหล่ที่เหมาะสมและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะไหล่ติดในอนาคต
FAQ คำถามที่พบบ่อย
1. อาการไหล่ติดคืออะไร?
ไหล่ติด (Frozen Shoulder) เป็นภาวะที่ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้จำกัด เนื่องจากการอักเสบและการก่อตัวของพังผืดในข้อไหล่ ซึ่งมักมาพร้อมกับอาการปวดและความฝืดในข้อไหล่
2. ไหล่ติดเกิดจากสาเหตุอะไร?
สาเหตุหลักมักมาจากการอักเสบของข้อไหล่ และการใช้งานที่จำกัด เช่น หลังการบาดเจ็บหรือการผ่าตัด การขาดการเคลื่อนไหวในระยะเวลานาน หรือโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนเลือด
3. อาการไหล่ติดสามารถหายเองได้หรือไม่?
ในบางกรณีอาการอาจดีขึ้นเองได้ แต่ใช้เวลานานถึง 1-3 ปี อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยกายภาพบำบัดสามารถเร่งการฟื้นตัวและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
4. ไหล่ติดใช้เวลารักษานานแค่ไหน?
ระยะเวลารักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปอาจใช้เวลา 6 เดือนถึง 2 ปี
5. เมื่อไรควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด?
- เมื่อมีอาการปวดไหล่ที่รบกวนชีวิตประจำวัน
- เมื่อข้อไหล่เริ่มเคลื่อนไหวได้ยาก หรือมีความฝืดอย่างชัดเจน
- หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์